Asahi Transnational

    
 
2025-02-13

[NDT] 2025 คู่มือฉบับปรับปรุงสำหรับการแจ้งติดตั้ง X-ray CT Inspection System (Radiation Generator) ในประเทศไทย

 

สรุปสาระสำคัญ:
หากคุณกำลังมีความต้องการซื้อเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการตรวจสอบ เช่น X-ray/CT System (Radiation Generator) เพื่อทำการทดสอบโดยไม่ทำลาย (NDT-Non Destructive testing) ในประเทศไทย ตามกฎกระทรวงการอนุญาตเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสีของประเทศไทยแล้ว จะต้องดำเนินการแจ้งต่อหน่วยงานรัฐบาล สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(OAP) โดยในบทความครั้งก่อน เราได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT Inspection system (radiation generator) ในปี 2563 และในปัจจุบัน เราได้ทำการติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(OAP) ของประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการติดตั้งและการแจ้งครอบครองเครื่องกำเนิดรังสีใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับลูกค้าที่วางแผนจะนำอุปกรณ์ทดสอบแบบไม่ทำลาย เช่น เครื่อง X-ray CT มาใช้ ซึ่งในบทความนี้มีการอัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมในหลายส่วน

 

■X-ray CT Inspection system (radiation generator) ที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นน้อยกว่า 1MeV ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี แต่ต้องแจ้งมีไว้ครอบครองและใช้เครื่องกำเนิดรังสีต่อเลขาธิการ โดย “การแจ้งครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี RSO”
■X-ray CT Inspection system (radiation generator) ที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นเกินกว่า 1MeV ท่านจำเป็นต้องขอใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่ง โดย “ในการขอใบอนุญาตจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย RSO”
■แบบฟอร์มสำหรับขออนุญาติเครื่องรังสีต้องเปลี่ยนไปใช้แบบฟอร์มสำหรับแจ้งครอบครองและใช้เครื่องกำเนิดรังสี
■มีการอัปเดตหน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

 

1. วิธีระบุประเภทของเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT Inspection System สำหรับการลงทะเบียน

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ของท่านเป็นเครื่องกำเนิดรังสีประเภทใด
ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของเครื่องกำเนิดรังสีได้ที่เว็บไซต์ Link
โดยประเภทของเครื่องกำเนิดรังสี แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

 

ประเภทที่ 1: อันตรายมาก

  • เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีตั้งแต่ 1MeV ขึ้นไป เช่น เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น (Linear particle accelerator), ไซโคลตรอน (Cyclotron), และซินโครตรอน (Synchrotron)
  • ต้องขอรับใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี

ประเภทที่ 2: อันตราย

  • เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานต่ำกว่า 1MeV มีลักษณะการใช้งานที่ไม่ปิดมิดชิดหรือใช้งานกับคน
  • ต้องขอรับใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี

ประเภทที่ 3: มีโอกาสเป็นอันตราย

  • เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานต่ำกว่า 1MeV มีลักษณะการใช้งานปิดมิดชิดและไม่ใช้งานกับคน เช่น อุปกรณ์ x-ray Fluoroscopy หรือ CT Scanner เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องของชิ้นงานแบบไม่ทำลาย (NDT) โดยระหว่างตรวจสอบชิ้นงาน กระบวนการเอกซเรย์จะเกิดขึ้นในระบบที่ปิดมิดชิดดังนั้นเครื่องกำเนิดรังสีของท่านจะถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 3 (ประเภทที่มีโอกาสเป็นอันตรายได้)
  • แจ้งครอบครองและใช้เครื่องกำเนิดรังสีต่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

ประเภทที่ 4: ใช้เพื่อการแพทย์

  • เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานต่ำกว่า 1MeV เฉพาะใช้สำหรับวินิจฉัยทางการแพทย์เท่านั้น
  • แจ้งต่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ทางบริษัทคาดการณ์ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของเรามักใช้เครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system ประเภท 3 ดังนั้นขั้นต่อนี้ไปจึงอ้างอิงวิธีการลงทะเบียนสำหรับเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system ประเภท 3 เป็นหลัก

 

2. การกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งครอบครองหรือใช้

■ท่านสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มสำหรับแจ้งครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีได้ที่ https://www.oap.go.th/regulation/licensing/license-xray/
■ระบุข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท:

  • ชื่อ ที่อยู่ รวมถึงช่องทางการติดต่อของบริษัท นอกจากนั้นต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง (กรณีที่ท่านไม่ใช่คนไทย) สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ที่ดำเนินการแทนบริษัท
  • ระบุวัตถุประสงค์ในการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system ว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือมีการวางแผนสำหรับจำหน่าย
  • ยืนยันว่าเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system จะถูกใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ในอุตสาหกรรม เช่น การทดสอบผลิตภัณฑ์
  • ข้อมูลการติดต่อของผู้รับผิดชอบเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system
  • ระบุรายละเอียดทางเทคนิคทั้งหมดที่เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system รวมถึงประเภท, ผู้ผลิต, รุ่น, หมายเลขเครื่อง, แรงดัน/พลังงานสูงสุด ไปจนถึงวิธีการใช้งาน (แบบติดตั้ง, แบบเคลื่อนที่, หรือแบบพกพา), สถานะการครอบครองหรือการใช้งาน, วันที่ตรวจสอบความปลอดภัยครั้งล่าสุด, วิธีการได้มาและวันที่เริ่มมีใช้งาน

 

3. เตรียมเอกสารประกอบการแจ้ง

การยืนยันตัวตน:

  • หากคุณเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย กรุณาเตรียมเอกสารการจดทะเบียนบริษัท แต่หากกรรมการบริษัทไม่ใช่คนไทย ท่านต้องแนบสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการด้วย
  • หากให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนบริษัท ท่านต้องแนบหนังสือมอบอำาจอย่างเป็นทางการด้วย

สถานที่:

  • แนบแผนที่และข้อมูลการติดต่อของสถานที่ที่มีการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system รวมถึงแผนผังอาคารและพื้นที่บริเวณโดยรอบ

อุปกรณ์:

  • ระบุข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคและรายงานการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system หากเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system เป็นแบบพกพา ท่าต้องแนบเอกสารรับรองความปลอดภัยจากประเทศต้นทางด้วย รวมถึงต้องแนบหลักฐานการใช้งานอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีประจำบุคคลของพนักงาน

ภาพถ่าย:

  • กรุณาแนบภาพถ่ายที่ชัดเจนของเครื่องกำเนิดรังสี บริเวณโดยรอบเครื่อง X-ray CT inspection system และฉลากที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิต รุ่น หมายเลขเครื่อง แรงดัน/พลังงานสูงสุด และฉลากคำเตือนเกี่ยวกับรังสี

■โปรดตรวจสอบข้อมูลและสำเนาเอกสารทั้งหมดว่าได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว

 

4. ช่องทางการแจ้งครอบครองและใช้เครื่องกำเนิดรังสี


■ท่านสามารถเลือกช่องทางการแจ้งครอบครองหรือใช้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

  • ติดต่อด้วยตนเอง ที่ศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ One stop service ของที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ วันจันทร์ถึงศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ) ตั้งแต่เวลา 08:30 น. ถึง 17:30 น.
  • ส่งทางไปรษณีย์ ถึง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
    ที่ ถนนวิภาวดีรังสิต 16 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 (โปรดเขียนว่า “ใบสมัครใบอนุญาต” บนมุมด้านบนของซองจดหมาย)
  • ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
  • หมายเหตุ: ตั้งแต่เดือนมกราคม 2025 เป็นต้นไป การยื่นใบสมัครผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่สามารถใช้ได้

  • ทางอีเมล (Email)
    Email: oss@oap.go.th
    เอกสารต้องเป็นรูปแบบไฟล์ PDF ที่มีความละเอียดไม่ต่ำกว่า 150 DPI หากได้รับการอนุมัติแล้ว เอกสารอนุมัติฉบับจริงต้องส่งทางไปรษณีย์

 

5. ระยะเวลาดำเนินการลงทะเบียน

■สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (OAP) จะใช้เวลาไม่เกิน 45 วันในการดำเนินการคำขอของท่าน
■หากเอกสารของท่านไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง สำนักงาน OAP จะติดต่อท่านกลับอีกครั้ง

 

6. รายงานการตรวจสอบความปลอดภัยสำหรับ X-ray CT Inspection System

■ความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system ควรได้รับการตรวจสอบและประเมินอย่างสม่ำเสมอ ท่านจำเป็นต้องยื่นสำเนารายงานการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องทุกๆ 2 ปี โดยทางสถาบันเทคโนโลยีปรมาณูแห่งประเทศไทย (TINT) มีงานบริการตรวจประเมินความปลอดภัยนี้ สำหรับการขอรับบริการ ท่านสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://eservice.tint.or.th/site/login และสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการ https://www.tint.or.th/th/service/ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์/งานบริการตรวจประเมินความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสี(X-ray)

 

7. การประเมินปริมาณรังสีประจำบุคคลสำหรับผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT Inspection System

■การประเมินปริมาณรังสีประจำบุคคลสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือวัดปริมาณรังสีแบบ Optically Stimulated Luminescence Dosimeter (OSL) ซึ่งเป็นผลึกของอะลูมิเนียมออกไซด์สำหรับใช้บันทึกประเมินและรายงานค่าปริมาณรังสีที่ได้รับจากการปฏิบัติงานเพื่อให้ท่านสามารถนำรายงานผลการประเมินค่าปริมาณรังสีไปประกอบการดำเนินการตามกฎหมายได้ รวมทั้งวางแผนการปฏิบัติงานเพื่อลดปริมาณรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับ ในกรณีที่หน่วยงานของท่านใช้ปริมาณรังสีสูง ขั้นตอนนี้ต้องมีการตรวจสอบและประเมินทุกๆ 3 เดือน สำหรับการขอรับบริการ ท่านสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์
https://www.tint.or.th/th/service/ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลีย/งานบริการประเมินปริมาณรังสีประจำบุคคล%20(แผ่นวัดรังสี%20OSL)

 

อายุใบรับแจ้งมีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีไม่มีวันหมดอายุ ใบรับแจ้งจะมีอายุจนกว่าผู้แจ้งมีความประสงค์ประสงค์จะยกเลิก

 

Noted:
■โปรดทราบว่าการลงทะเบียนเครื่องกำเนิดรังสี X-ray CT inspection system ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แม้ว่าท่านจะไม่ต้องขอใบอนุญาตในการใช้งานก็ตาม
■หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางรังสี กรุณาโทรสายด่วน (1296)

 
 

ข้อมูลในเอกสารนี้เป็นข้อมูลของเดือนกุมภาพันธ์ 2568
ทางบริษัทได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลดังนี้ :
 

  • ติดต่อแผนกออกใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี รวมถึงเว็บไซต์ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • เว็บไซต์ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

 
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (OAP) เป็นพิเศษสำหรับการอธิบายรายละเอียดให้กับทางบริษัทเพิ่มเติม